บุฟเฟ่ต์โปรคุ้ม ๆ จัดหนัก ระวังเสี่ยงหลายโรค ปิ้งย่าง อาหารทอด ขนมหวาน กินบ่อยก็บั่นทอนสุขภาพ

 บุฟเฟ่ต์โปรคุ้ม ๆ จัดหนักกันเกือบทุกสัปดาห์ ระวังเสี่ยงหลายโรค เพราะการกินอิ่มมากเกินไป ทั้งอาหารปิ้งย่าง อาหารทอด ขนมหวาน กินบ่อยก็บั่นทอนสุขภาพ เสี่ยงตายผ่อนส่งเลยทีเดียว

 บุฟเฟ่ต์เป็นอาหารที่มีให้เลือกกินได้หลากหลาย จ่ายราคาเดียวแล้วก็กินได้ทุกอย่าง ทำให้หลายคนชอบที่จะไปกินบุฟเฟ่ต์เพราะรู้สึกว่าคุ้มดี แต่ถ้ากินบุฟเฟ่ต์บ่อย ๆ กินทุกครั้งก็จัดหนัก กินอิ่มมากเกินไปแทบจะทุกที แบบนี้ไม่ได้แค่แน่นท้องหรือจุกเท่านั้นหรอกนะคะ แต่การกินบุฟเฟ่ต์ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคเหล่านี้แถมให้ด้วย



บุฟเฟ่ต์ กินมาก ๆ บ่อย ๆ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง
สายบุฟเฟ่ต์ที่ชอบจัดหนัก กินเยอะ ๆ ให้คุ้มไว้ก่อน ระวังอาการไม่สบายและโรคเหล่านี้ไว้เลย

1. ท้องอืด แน่นท้อง
เมื่อเรากินอาหารเยอะเกินไป จะรู้สึกจุก แน่น และมีอาการท้องอืด ซึ่งพอมีอาการเมื่อไรก็ไม่สบายตัวเมื่อนั้น เพราะจะรู้สึกปวดท้องส่วนบน เหมือนมีลมในท้อง จนบางคนต้องเรอออกมาถึงจะรู้สึกดีขึ้น และถ้าปล่อยให้มีอาการแน่นท้อง จุกเสียดบ่อย ๆ ก็น่าสงสารร่างกายอยู่เหมือนกันเนอะ

2. ท้องเสีย
โดยเฉพาะถ้ากินปิ้งย่างแล้วสุกไม่หมด ความร้อนไม่ถึงจุดที่ฆ่าเชื้อโรคได้ ก็เสี่ยงกับอาการท้องเสียไม่น้อยเหมือนกัน นอกจากนี้ในอาหารปรุงสำเร็จแล้วหรือขนมหวานที่วางไว้ให้ใครตักก็ได้ อาจมีสารปนเปื้อนที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียหรือท้องร่วงได้เหมือนกัน
3. กรดไหลย้อน
การที่เรากินเยอะ กินอิ่มมากเกินไป อาจทำให้ร่างกายต้องใช้เวลาในการย่อยอาหารนานกว่าที่เคย จนทำให้กรดในกระเพาะอาหารยังคั่งค้าง ยิ่งถ้ากินแล้วนอนเลย กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารอาจไหลย้อนกลับ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก จุก แน่น และหากเป็นอย่างนี้บ่อย ๆ สักวันก็อาจป่วยด้วยโรคกรดไหลย้อนไปเลยก็ได้

4. โรคอ้วน
บุฟเฟ่ต์ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารที่แคลอรีสูง อย่างบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง หมูกระทะ หรือบุฟเฟ่ต์อาหารทะเล ซึ่งหากกินบ่อย ๆ ก็แน่นอนว่าร่างกายคงได้แคลอรีเกินจำเป็น ยิ่งหากกินบุฟเฟ่ต์ในมื้อเย็น โอกาสที่แคลอรีจากอาหารจะสะสมอยู่ในร่างกายก็จะมาก เพราะเป็นเวลาใกล้เข้านอน และเราไม่ค่อยมีกิจกรรมที่ได้เผาผลาญแคลอรีเท่าไรนัก ดังนั้นหากตระเวนกินบุฟเฟ่ต์อยู่บ่อย ๆ ก็คงไม่รอดจากความอ้วน

5. ไขมันในเลือดสูง

หมูสามชั้นย่างเกรียม ๆ ของทอดที่หลากหลาย เบคอนกรอบ ๆ หรือกุ้งย่างเนยหอมยั่ว ๆ อาหารเหล่านี้ล้วนมีแคลอรีสูงทั้งสิ้น กินเข้าไปมาก ๆ ก็อาจมีระดับไขมันในเลือดสูง ยิ่งหากไม่ใช่คนที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไขมันที่กินเข้าไปก็อาจค้างอยู่ในเลือดจนตรวจเจอ

6. โรคเบาหวาน
เมื่ออ้วน มีไขมันในเลือดสูง ก็จะเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากขึ้นไปด้วย เนื่องจากไขมันส่วนเกินในร่างกาย สุดท้ายจะกลายเป็นกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ตับอ่อนก็จะทำงานหนักเพื่อผลิตอินซูลินมาจัดการน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ จนตับอ่อนเหนื่อยล้า ผลิตอินซูลินได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินและเราก็จะเป็นเบาหวานในที่สุด

7. ความดันโลหิตสูง

นอกจากเบาหวานแล้ว ในแพ็กเกจของความอ้วนก็มีภาวะความดันโลหิตสูงพ่วงมาด้วย โดยพบว่า ร้อยละ 50 ของผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน จะมีความดันโลหิตสูงร้อยละ 20-30 เลยทีเดียว ยิ่งกับคนอ้วนที่มีไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดในร่างกายมีไขมันเกาะอยู่ เลือดเดินไม่สะดวก ก็ต้องใช้แรงในการสูบฉีดเลือดมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นนั่นเอง

8. โรคหัวใจ
ระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เสี่ยงโรคหัวใจเพิ่มขึ้น เพราะไขมันที่สะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอาจไปเกาะตามผนังหลอดเลือด หรือขัดขวางการทำงานของเส้นเลือด ส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ส่วนสุขภาพหัวใจก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ
9. โรคหลอดเลือดสมอง
ไขมันส่วนเกินในร่างกายอาจไปอุดตันตามเส้นเลือดต่าง ๆ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ลื่นไหล และหากมีไขมันอุดตันอยู่หนาแน่นก็เสี่ยงต่อภาวะเส้นเลือดตีบ ตัน หรือแตกอย่างกะทันหัน เสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรืออาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
10. Food coma

หากเสพติดการกินบุฟเฟ่ต์มาก ๆ อาจจะเสี่ยงกับภาวะ Food coma หรืออาการกินอิ่มจัดจนท้องแทบแตกไปด้วย แถมบางคนยังอาจมีอาการกินอิ่มมากเกินไปจนลุกไม่ไหว หายใจไม่สะดวก หรือหลังกินอิ่มจัด ๆ จะง่วงมากแบบผิดปกติด้วยน

กินบุฟเฟ่ต์ยังไงไม่อ้วน ร่างไม่พัง
เราไม่จำเป็นต้องเลิกกินบุฟเฟ่ต์อย่างเด็ดขาดก็ได้ แต่เพื่อสุขภาพที่ไม่พัง ไม่อ้วนจนเกินไป ก็ควรปฏิบัติตามนี้
1. หลีกเลี่ยงการกินตามอารมณ์ ให้กินเมื่อหิว ไม่ใช่กินเพราะแค่รู้สึกอยาก และหยุดกินเมื่อรู้สึกอิ่ม


2. พยายามอย่ากินอาหารมัน ๆ มากจนเกินไป เพราะร่างกายจะย่อยยาก แถมยังมีแคลอรีสูง


3. กินผักให้เยอะกว่าเนื้อสัตว์ เพื่อให้ไฟเบอร์ช่วยย่อย และช่วยในการขับถ่าย


4. อย่าโลภมาก ตักอาหารแค่พอรับประทาน


5. พยายามหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม


6. เปลี่ยน Mind set คำว่า "คุ้ม" ให้เป็นการได้กินอาหารที่หลากหลาย ไม่ใช่การกินให้เยอะ ๆ


7. เคี้ยวช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด จะช่วยให้อิ่มเร็วขึ้นได้


8. ใช้จานใบเล็กแทนใบใหญ่ จะได้ไม่ตักอาหารมาเยอะเกินไป


9. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หลักในการมีสุขภาพดีอยู่ที่พฤติกรรมการกินอาหารเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นหากไม่อยากป่วยไข้ มีโรคมากมายมารุมเร้า ก็เลือกกินอาหารอย่างสมดุลกันด้วยนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก  health.kapook