กลุ่มที่มีความเสี่ยง "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด"เรื่องที่วัย 45 ขึ้นไป ต้องรู้

 โรคหัวใจขาดเลือด หรือ "กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด" เป็นอาการที่เกิดจากการมีเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอต่อความต้องการของหัวใจในขณะนั้น โดยมีสาเหตุมาจาก หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื่อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิด “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือนำไปสู่อาการหัวใจวายเสียชีวิต



ภาวะ" กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด" คือ การทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ โดยอาการของโรค เมื่อไปสู่ขั้น"ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย" สามารถทำให้เสียชีวิตได้
อาการของ “ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” มักแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น เจ็บกลางหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมาเล็กน้อย เจ็บแบบจุกแน่น คล้ายมีอะไรมาบีบหรือกดทับไว้ อาการเจ็บมักลามไปที่คอหรือขากรรไกรหรือไหล่ซ้ายมักเป็นมาก ขณะออกกำลังกายหรือทำงาน เป็นอยู่นานครั้งละ 2-3 นาที อาการจะดีขึ้นถ้าได้หยุดพัก หรืออมยาขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ บางรายอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ เหมือนอาหารไม่ย่อย บางรายอาจมีอาการใจสั่น หอบเหนื่อย ร่วมด้วย
กลุ่มที่มีความเสี่ยง “ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง อายุ:เพศชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปี มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปัจจัยทางพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัวหมายถึง พ่อแม่ พี่น้อง ลูก เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันก่อนวัยอันควร (เพศชายอายุน้อยกว่า 55 ปี เพศหญิงอายุน้อยกว่า 65 ปี) มีโอกาสที่จะเป็น


การรักษา “ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด” เมื่อมีการตรวจโดยแน่ชัดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การตรวจโดยการเดินออกกำลังกายบนสายพานหรือโดยวิธีการใส่สายสวนหัวใจ เข้าทางหลอดเลือดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ และฉีดดูตำแหน่งการตีบตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ แพทย์จะประเมินภาวะความรุนแรงของโรคและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย
1. การใช้ยาขยายหลอดเลือด มีทั้งชนิดอมใต้ลิ้น, ยารับประทาน และให้ทางหลอดเลือดดำ
2. การให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือดแข็งตัว เช่น แอสไพริน
3. การให้ยาลดการบีบตัวของหัวใจ เพื่อลดการทำงานของหัวใจ และลดการใช้ออกซิเจน
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องควบคู่ไปกับการรักษาทางยาส่วนใหญ่มักได้ผลดี แต่ในภาวะรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อยา แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจที่ตีบ หรือผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือด เพื่อให้เลือดเดินทางผ่านจุดที่อุดตัน โดยใช้เส้นเลือดที่บริเวณแขนหรือขา

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด: รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง, รับประทานผัก ผลไม้และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร ,รับประทานอาหารแต่พออิ่ม และควรพักหลังอาหารประมาณ 1/2-1 ชั่วโมง,ออกกำลังกายอย่าง สม่ำเสมอ การออกกำลังกายที่ดีที่สุด คือการเดิน เริ่มโดยการเดินช้า ๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทาง แต่อย่าให้เกินกำลังตนเอง , ทำจิตใจให้สงบ หาโอกาสพักผ่อน
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและเค็มจัด , งดดื่มสุรา น้ำชา กาแฟ และหลีกกเลี่ยงการสูบบุหรี่,หลีกเลี่ยงงานหนัก งานรีบเร่ง และงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนาน ๆ,

เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ให้หยุดกิจกรรมนั้น ๆ ทันทีและอมยาใต้ลิ้น 1 เม็ด,ถ้าอาการยังไม่ทุเลาลงให้อมยาใต้ลิ้นซ้ำได้อีก 1 เม็ด ห่างกัน 5 นาที แต่ไม่ควรเกิน 3 เม็ด หากอาการไม่ดีขึ้นใน 15-20 นาที ให้รีบไปพบแพทย์
การป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด: หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวผ่านกรรมวิธี - ทำให้มีการสะสมไขมันในหลอดเลือด ก่อให้เกิดแผ่นคราบไขมันตามมา ,ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมาก ๆ เช่น รำข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ ,ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 20 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาและเพิ่มความถี่ในการออกกำลังกาย,หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่น ๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด การสูบบุหรี่ ยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว,พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงาน

ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน โดยใช้วิธีออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่ถูกต้อง , ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ควรปรึกษาแพทย์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กลุ่มงานการพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี