แพทยสภา: เตือนโรคความดันโลหิตสูง ฆาตกรเงียบถามหาในตัวคุณไม่รู้ตัว
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ตรวจพบความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติอย่างเรื้อรังเป็นเวลานาน โดยทั่วไปหากผู้ใดวัดความ ดันโลหิตระหว่างหัวใจบีบตัวได้มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท หรือ วัดความดันโลหิตระหว่างหัวใจคลายตัวได้มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อย จากการสำรวจพบว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 20
ทำไมจึงเป็นฆาตกรเงียบ?
ปัญหาสำคัญของโรคความดันโลหิตสูงก็คือผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มากกว่าครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็น และถึงแม้จะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้แล้วก็ยังไม่ได้ สนใจดูแลรักษา ส่วนหนึ่งเนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงมักไม่มีอาการทำให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้ไม่ได้ให้ความสนใจ เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงจะเริ่มสนใจตนเองและรักษา ซึ่งทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร โรคความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เกิดอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้หัวใจวายและเสียชีวิตได้ รวมทั้งทำให้เกิดไตวายเรื้อรัง จนอาจต้อง รับการล้างไตได้ จึงถือว่าโรคความดันโลหิตสูงเป็นเหมือน "ฆาตกรเงียบ" ที่แฝงอยู่ในตัวผู้ป่วย จากข้อมูลทางการแพทย์ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตจากหัวใจวายถึง 60-75%, เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัดหรือแตก 20-30% และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10% การลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติหรือน้อยกว่า 140/90 มม.ปรอท ช่วยลดการเกิดอัมพาต ร้อยละ 35-40 หัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย ลดลงร้อยละ 20-25 และทำให้เกิดหัวใจวาย ลดลงร้อยละ 50
ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีความดันโลหิตสูง
เมื่อพบว่ามีความดันโลหิตสูง สิ่งสำคัญเพื่อลดระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้แก่ การลดน้ำหนัก การลดน้ำหนัก รับประทานอาหารให้เหมาะสม ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ จำกัดเกลือในอาหาร งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์และ พบแพทย์เพื่อให้การรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต
ยาลดความดันโลหิต
แพทย์มักให้ยาลดความดันโลหิตขั้นต้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 4 กลุ่ม ได้แก่ ยาขับปัสสาวะ ยาต้านแคลเซียม ยาเอซีอีไอ และยาเออาร์บี เป็นยาตัวแรก หากไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้ปกติได้ ก็จะให้ยา 2-3 ตัวร่วมกัน หากใช้ยาในกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้ผล แพทย์จึงจะเพิ่มยา กลุ่มอื่นๆ เช่น ยาต้านเบต้า และยาต้านอัลฟ่า
แพทย์จะใช้ยากลุ่มใดในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะพิจารณา จากการประเมินว่า มีโรคหัวใจ โรคไต เบาหวานด้วยหรือไม่การตอบสนอง ของยาในแต่ละคนเป็นอย่างไร เกิดผลข้างเคียงของยาหรือไม่ โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักต้องใช้ยา 2-3 ตัวขึ้นไปเพื่อให้ได้ระดับความดันโลหิตที่ต้องการ การปฏิบัติที่สำคัญเมื่อได้รับการสั่งจ่ายยา ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ ทราบถ้าท่านรับประทานยาอย่างอื่นอยู่รับประทานยาโดยสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่งหากมียาชนิดใดที่ทำให้ท่านรู้สึกไม่สบาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจต้องหยุดหรือลดขนาดยา และมารับการ ตรวจตามนัด อย่ารอให้ยาหมด
พลอากาศโท นายแพทย์ อนุตตร จิตตินันทน์
โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
ที่มา : www.ryt9.com/s/nnd/2728703